การนำหลักสูตร Master of Industrial Manufacturing มาใช้ในการประเมินสมรรถนะ
ภาพ (จากซ้ายมือ) :
หัวหน้าสายฝ่ายผลิต
คุณระพีพัฒน์
หัวหน้าสายฝ่ายผลิต
คุณอดิศักดิ์
รองหัวหน้าสายฝ่ายผลิต
คุณบุญทัน
ชื่อบริษัท
URL
ข้อมูลบริษัท
Hitachi Industrial Technology (Thailand), Ltd.
ก่อตั้ง | ค.ศ. 1989 |
ที่อยู่ | 610 หมู่ 9 ถนนกบินทร์บุรี-โคราช (ก.ม.12) ตำบลหนองกี่ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี 25110 |
ธุรกิจหลัก | ผลิตมอเตอร์และเซอร์กิตเบรกเกอร์ |
― อยากให้เล่าถึงความเป็นมาของการใช้หลักสูตร Master of Industrial Manufacturing
คุณซากุไร :
ในญี่ปุ่นช่างเทคนิคมีโอกาสรายงานการปรับปรุงในหน้างานการผลิตภายในบริษัท แต่ว่าที่บริษัทไม่มีระบบดังกล่าว ในช่วงที่บริษัทกำลังมองหาระบบสำหรับประเมินช่างเทคนิคก็ได้ทราบมาว่าที่ไทยเองก็มีหลักสูตร Production Meister* ที่บริษัทที่ญี่ปุ่นใช้อยู่ เราจึงตัดสินใจนำระบบนี้มาใช้เนื่องจากสามารถประเมินสมรรถนะได้อย่างชัดเจน
*ชื่อหลักสูตร Master of Industrial Manufacturing ที่ญี่ปุ่น
― ผลลัพธ์หลังการใช้หลักสูตร Master of Industrial Manufacturing เป็นอย่างไรบ้าง
คุณซากุไร :
ไม่เพียงแต่ผู้ที่สอบผ่าน แต่ผู้ที่เรียนในครั้งนี้ทุกคนได้ร่วมแบ่งปันความรู้ในการประชุมช่วงเช้า มีการพูดคุยกับแผนกอื่นจนนำไปสู่กิจกรรมไคเซ็น หลังจากนี้เราก็จะเพิ่มจำนวนผู้เรียนหลักสูตรนี้ ส่งเสริมความตระหนักในการปรับปรุง และส่งเสริมการปรับปรุงสถานที่ทำงานครับ
― รู้สึกอย่างไรที่สอบผ่าน
คุณอดิศักดิ์ :
ดีใจครับ เราตั้งใจอ่านหนังสือทบทวน เนื้อหาพวก 5ส ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ก็อยู่ในเนื้องานที่เราคลุกคลีทุกวัน มันทำให้เราได้ความรู้เพิ่มขึ้นมาครับ
คุณบุญทัน :
มันก็ดีใจนะครับ เราตั้งใจเรียนอ่านทบทวนกลับไปกลับมาหลาย ๆ ครั้ง เนื้อหามันสามารถเอามาปรับใช้ในบริษัทได้
― สิ่งที่ยากที่สุดในการสอบคืออะไร
คุณอดิศักดิ์ :
ตอนเรียนระดับประถม ระดับมัธยม คำตอบจะอยู่ในหนังสือ แต่ในการสอบจริงเป็นโจทย์ประยุกต์เลยทำให้สับสน เพราะงั้นพอสอบผ่านเลยดีใจมากครับ
คุณบุญทัน :
โจทย์คำถามยาวมากครับ พออ่านก็เริ่มสับสน เวลาก็บีบ แล้วข้อสอบมันจะมี 3 ส่วน ส่วนที่ยากที่สุดก็คือข้อเขียนครับ
― อะไรคือสิ่งที่ทำให้สอบผ่าน
คุณอดิศักดิ์ :
มีเนื้อหาที่ใช้อยู่ในการทำงานในแต่ละวัน ได้รู้หลาย ๆ เรื่องจากหนังสือ การที่สามารถเรียนเรื่องที่รู้อยู่แล้ว และเรื่องที่ไม่รู้ มันดีมากเลยครับ
คุณบุญทัน :
การนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในหน้างาน มันทำให้เราเข้าใจขึ้นมาก ประกอบกับเราอ่านหนังสือ 3 เล่ม แล้วเอาประสบการณ์ของเรามาเสริม มันทำให้เรารู้ สามารถตอบโจทย์คำถามของข้อสอบได้ครับ
― เรียนโดยวิธีไหนและใช้เวลาเท่าไหร่
คุณอดิศักดิ์ :
ผมจะใช้ช่วงเช้ากับช่วงเย็นครับ ช่วงเช้าเหมือนว่าสมองเราปลอดโปร่ง เราจะจำหนังสือได้ง่าย ผมจะตื่นมาอ่านวันละชั่วโมงนึงก่อนจะมาทำงาน และก็ช่วงเย็นของวันที่ไม่เหนื่อยล้ามาก หนังสือมี 3 เล่ม เรียนภายในเวลา 3 เดือน ถ้าผมอ่านจบเล่ม 1 เสร็จ ผมก็จะมาอ่านซ้ำใหม่ จะไม่ข้ามไปเล่ม 2 เล่ม 3 จะอ่านเล่ม 1 ให้มันจำได้ก่อนภายใน 1 เดือน
คุณบุญทัน :
ผมจะใช้เวลาเต็ม ๆ ครึ่งวันในวันอาทิตย์อ่านหนังสือ หนังสือเล่มนึงจะมีแบบทดสอบวัดระดับความเข้าใจ 3 ชุดใช่ไหมครับ ถ้าผ่าน 1 ชุด ก็จะข้ามไปเล่ม 2 ได้ แต่ผมจะพยายามทำทั้ง 3 ชุด เพราะว่ามันสามารถทบทวนข้อที่ผิดในชุดแรกได้
― สิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนคืออะไร
คุณบุญทัน :
การจัดเวลาครับ คือมีทั้งโอที มีทั้งวันหยุดด้วย จัดเวลาในการเรียนยากมาก ถึงจะมีเวลาแต่ก็ต้องเป็นช่วงที่มีสมาธิ ถ้าเราจะไปอ่านหลังเลิกงานแค่ชั่วโมงนึงมันจะไม่ได้ความรู้ มันต้องใช้เวลาเยอะ ๆ ในวันหยุดเพื่อเรียน แล้วการทบทวนก็สำคัญมากครับ เราเลยต้องกลับมาอ่านทวนซ้ำ
― การให้ทุกคนมารวมตัวกันสอบวัดระดับความรู้เป็นยังไงบ้าง
คุณอดิศักดิ์ :
ถ้าเราไม่ได้มารวมตัวกัน ความคิดที่เราคิดว่าเราถูก บางครั้งมันอาจจะไม่ถูกก็ได้ การมารวมตัวกันกับเพื่อนร่วมงานมันทำให้เราได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน มันจะได้ข้อมูลที่ถูกจริง ๆ ออกมาครับ
คุณบุญทัน :
เราอยู่ต่างแผนก อยู่หลายที่ อยู่จุดงานไม่เหมือนกัน บางคนก็ยังไม่ได้อ่าน บางคนอ่านจบแล้วทำแบบทดสอบวัดระดับความเข้าใจแล้ว คนที่ทำเสร็จแล้วก็จะได้เปรียบเพราะสามารถทบทวนได้ เขาจะมีกำหนดอย่างวันนี้ เล่มนี้ เวลาเที่ยงถึงบ่ายสามนะอะไรประมาณนี้ เราจะมารวมตัวกัน ซึ่งเราสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ผมอยู่ที่หอจะเรียนด้วยกันประมาณ 3 คน หลังเลิกงานก็คือ 2 ทุ่มก็จะมาละ ไม่เกิน 5 ทุ่ม คือจะนั่งอ่านกัน ใช้ความคิดร่วมกัน
― ทำอย่างไรให้ตนเองมีแรงจูงใจ
คุณอดิศักดิ์ :
ก่อนอื่นเลยต้องขอบคุณบริษัทฮิตาชิที่มองเห็นและพัฒนาด้านบุคลากรอย่างพวกผม พวกผมคือไม่ได้จบสูง เขาทำให้เรารู้สึกว่าเขาลงทุนกับเรา ลงทุนที่จะพัฒนาพวกผม เขาเนี่ยเข้ามาคาดหวังกับพวกผม 23 คนใน 600 คนในบริษัท ถ้าเราไม่สู้เลยมันก็จะสูญเปล่า
คุณบุญทัน :
เอาตรง ๆ คือถ้าสอบผ่านจะมีค่าสกิล อันนี้ก็เป็นแรงจูงใจนึงครับ จริง ๆ มันก็เป็นเนื้อหาที่ใช้ในหน้างานอยู่แล้ว มันทำให้เรามีสกิลที่เพิ่มมากขึ้น แล้วก็ทำให้เรามีความตั้งใจในฐานะของหัวหน้างานครับ
― จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในการทำงานต่อจากนี้ยังไง
คุณอดิศักดิ์ :
จากที่เรียนมาผมมองเห็นเลยครับว่าจุดที่เราจะปรับมันคือจุดไหน ปกติเราก็จะมองแค่ผ่าน ๆ ใช่ไหมครับ แต่พอเราได้อ่านหนังสือแล้ว เราจะสามารถมองในมุมที่แตกต่างออกไปได้ ได้รู้ถึงความสำคัญของมาตรฐาน ถ้าต่ำกว่ามาตรฐานคือไม่โอเค ถ้าสูงกว่ามาตรฐานคือโอเค หลังจากนี้ก็ตั้งใจที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นครับ
คุณบุญทัน :
ที่เอาไปใช้ได้เลยคือเหตุการณ์ Near Miss ต่าง ๆ ครับ ก่อนเรียนจะมองผ่านสิ่งที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะเป็น Near Miss หลังจากเรียนแล้วผมมองเห็น Near Miss ในจุดงานเป็นสิบ ๆ จุด แล้วก็ได้ทำการแก้ไข อย่างที่เป็นการตัด กลึง เหวี่ยง หมุนอะไรต่าง ๆ คือไม่มี cover เราก็ไปทำ cover นอกจากนี้ยังสามารถสื่อสารกับลูกน้องได้ราบรื่นขึ้น มีแรงจูงใจ มีจิตใต้สำนึกเรื่องคุณภาพของงาน ประชุมเช้าคือสามารถเอาจากในหนังสือมาพูดได้ สามารถคุยแล้วก็อธิบายให้ลูกน้องเข้าใจลำดับขั้นป้องกันงานที่ผิดพลาดได้
― อยากจะฝากอะไรไปถึงคนที่อยากจะสอบประเมินมาตรฐานสมรรถนะนี้
คุณอดิศักดิ์ :
หลักสูตรนี้สามารถเอามาปรับใช้ในหน้างานของตนเองได้ครับ เนื้อหาอาจจะยากหน่อย แต่ไม่อยากให้ท้อ ให้มีแรงจูงใจ เชื่อในตัวเองและสู้ต่อไปครับ
คุณบุญทัน :
เราจงภูมิใจว่าเราได้รับการเลือกจากบริษัท ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับเลือก จะผ่านหรือไม่ผ่าน มันคืออีกเรื่องนึงแต่ยังไงเราก็ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์แน่นอน อยากให้ทุกคนไปถึงจุดหมาย ในความตั้งใจทั้งหมดที่เราทำ ไม่มีอะไรที่ไม่ประสบผลสำเร็จแน่นอน
บทสัมภาษณ์เดือนพฤษภาคม 2024
บริษัท Hitachi Industrial Technology (Thailand), Ltd.
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตร Master of Industrial Manufacturing
https://jmamthailand.co.th/th/services/moim/