กรณีศึกษาในประเทศไทย

ประสบการณ์ฝึกงานกับ JMAM (THAILAND) ③

นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 4

ต้องทำงานอะไรบ้าง

ตลอดระยะเวลาทั้งหมด 4 เดือนในการฝึกงานกับทาง JMAM ในตำแหน่ง General Affair ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก ซึ่งในแต่ละวันก็จะได้ฝึกใช้ภาษาญี่ปุ่น รวมถึงได้เรียนรู้การทำงานในวัฒนธรรมแบบองค์กรญี่ปุ่น  โดยงานที่ได้รับมอบหมายค่อนข้างมีความหลากหลาย อีกทั้งได้นำความรู้ที่มีมานำปรับใช้ในการทำงาน และได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งงานที่ได้รับมอบหมายบางส่วน ได้แก่ 

– แปลเอกสารญี่ปุ่น – ไทย – อังกฤษ  

– ตรวจสอบและแก้ไขคำแปลภาษาไทย

– จัดทำสไลด์ Presentation และจัดเตรียมเอกสารสำหรับการจัดอบรมสัมมนา

– ดูแลประสานงานการจัดอบรมหลักสูตร Visual management (PDCA) และหลักสูตร Basic Data Analysis

– จัดทำใบเสนอราคา ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จ/ใบกำกับภาษี รวมถึงจัดทำเอกสารบัญชีประจำเดือนอื่น ๆ

– ตรวจผลสอบ Management Level Test และจัดทำรายงานผลสอบเพื่อแจ้งให้ลูกค้าทราบ

– ไปทำงานนอกสถานที่กับหัวหน้าชาวญี่ปุ่น เช่น ไปพบลูกค้า ฯลฯ

– เข้าร่วมประชุมกับทีมเพื่อรายงานความคืบหน้าของงานในทุกสัปดาห์

– ฝึกเขียนอีเมลรายงานการทำงานให้หัวหน้าชาวญี่ปุ่นทราบทุกวัน – ฝึกการล่ามเพื่อแนะนำบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น

สิ่งที่ได้เรียนรู้และรู้สึกสนุก

เนื่องจาก JMAM เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น จึงได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นในการทำงานทุกวัน ทำให้ได้นำความรู้ภาษาญี่ปุ่นที่เรียนมาลองใช้ในการทำงานจริง อีกทั้งยังได้เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือการเขียนอีเมล รวมถึงได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ถึงจะยังใช้ไม่ถูกต้องมากนัก แต่ก็ทำให้กล้าที่จะลองใช้ภาษาญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังได้ประสบการณ์จากการไปทำงานนอกสถานที่ เช่น การไปจัดอบรมสัมนา การไปประชุมกับลูกค้า ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้พบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่น ทำให้แต่ละวันรู้สึกสนุกไปกับการท้าทายในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ให้ตัวเอง ฉันคิดว่าการฝึกงานครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ มากมาย ไม่ใช่แค่ทักษะภาษาญี่ปุ่น แต่ยังได้เรียนรู้ทักษะการทำงาน ทักษะการใช้ชีวิตอีกด้วย

สิ่งที่รู้สึกยาก

สิ่งที่รู้สึกยากคือการต้องทำความเข้าใจกระบวนการทำงานต่าง ๆ ซึ่งในช่วงแรกยังไม่คุ้นชิน ทำให้เกิดเกิดปัญหาคือการลืม ซึ่งส่งผลให้การทำงานที่ไม่ละเอียดรอบคอบมากเพียงพอ แต่พอเริ่มเข้าใจกระบวนการทำงานมากขึ้น ก็ทำให้ตนเองมีความรอบคอบมากขึ้น นอกจากนี้ ในการสื่อสารภาษาญี่ปุ่นกับหัวหน้าคนญี่ปุ่น ก็จะมีบางครั้งที่ไม่เข้าใจและสื่อสารไม่ได้บ้าง แต่พี่ ๆ พนักงานคนไทยก็คอยช่วยเหลืออยู่ตลอด ในส่วนของงานแปลและตรวจเช็กคำแปล ส่วนมากเอกสารดังกล่าวจะเป็นคำศัพท์เฉพาะด้านอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ไม่เคยพบเจอตอนเรียนที่มหาวิทยาลัย จึงทำให้แปลได้ค่อนข้างยาก และไม่มั่นใจว่าสิ่งที่แปลออกมาจะถูกต้องหรือไม่ ดังนั้น หากเจอคำศัพท์ที่ไม่เข้าใจ ฉันจึงคอยสอบถามพวกรุ่นพี่อยู่เสมอว่าควรแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไร และหากเป็นคำศัพท์ที่ยากเกินไป ก็จะลองสอบถามความหมายจากคนญี่ปุ่นโดยตรง เพื่อให้เขาอธิบายความหมายของคำศัพท์นั้น ๆ